Wałęsa, Lech (1943–)

นายเลค วาเวนซา (พ.ศ. ๒๔๘๖–)

 เลค วาเวนซา เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐโปแลนด์ (Republic of Poland) คนแรกที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ (ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐–๑๙๙๕) เป็นช่างไฟฟ้าชาวโปแลนด์ที่ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานเสรีที่เรียกว่า โซลิดาริตี (Solidarity)* ขึ้นในโปแลนด์ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ วาเวนซาได้ผลักดันการเคลื่อนไหวปฏิวัติอย่างสันติของขบวนการโซลิดาริตีเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก เขามีบทบาทสำคัญในการทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ล่มสลายลงในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๐ และโปแลนด์กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยวาเวนซาจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้สงครามเย็น (Cold War)* สิ้นสุดลง และมีผู้กล่าวว่าเขามีอิทธิพลทางการเมืองสูงเทียบเท่าสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ (John Paul II)* ชาวโปแลนด์และมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตผู้นำทั้ง ๓ คน ได้ทำให้รูปโฉมของยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

 วาเวนซาเกิดในครอบครัวชาวนาเคร่งศาสนา เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ ที่หมู่บ้านพอพอวอ (Popowo) ซึ่งอยู่ระหว่างกรุงวอร์ซอ (Warsaw) กับเมืองท่ากดานสค์ (Gdansk)* หรือดานซิก (Danzig) ทางตอนเหนือของโปแลนด์ บอเลสลัฟ (Boleslaw) บิดาเป็นชาวนาและช่างไม้ ส่วนเฟลิคซา (Feliksa) มารดาเป็นแม่บ้านและรับจ้างทำงานจิปาถะ เขาเป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนพี่น้องชายหญิง ๖ คน ก่อนเขาเกิดได้ไม่นานนัก เยอรมนีซึ่งยึดครองโปแลนด์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ได้บังคับกวาดต้อนชาวโปลไปเป็นแรงงาน ซึ่งรวมทั้งบิดาของวาเวนซาด้วย บิดาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ระยะหนึ่งก็ถูกส่งไปทำงานที่ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* เมืองมวินีตซ์ (Młyniec) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงโบเลสลัฟกลับมาพบครอบครัวอีกครั้ง แต่ด้วยการทำงานหนักในช่วงสงครามและสุขภาพที่อ่อนแอ เขาจึงเจ็บออด ๆ แอด ๆ จนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ขณะอายุได้ ๓๔ ปี เฟลิคซาจึงแบกรับการอบรมเลี้ยงดูบุตรชายหญิงโดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากน้องชาย

 วาเวนซาเรียนหนังสือระดับต้นที่โรงเรียนในหมู่บ้านและไปเรียนต่อสายอาชีวะด้านไฟฟ้าเทคนิคที่เมืองลิปนอ (Lipno) เขาไม่ใช่เด็กหัวดี แต่ก็มีความมุมานะและเอาใจใส่ในการเรียน ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เขาสำเร็จการศึกษาเป็นช่างไฟฟ้าและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑–๑๙๖๕ ทำงานเป็นช่างเครื่องรถยนต์ที่อู่รถไม่ไกลจากบ้านมากนัก ในต้น ค.ศ. ๑๙๖๖ เขาถูกเกณฑ์เป็นทหาร ๒ ปี และได้ยศสิบโท หลังปลดประจำการเขากลับไปทำงานที่อู่รถตามเดิม แต่การทำงานซ้ำซากทำให้เขาเบื่อหน่ายและหนีงานไปนั่งรถไฟเล่นเพื่อผ่อนคลาย ขณะที่รถไฟจอดพักที่เมืองกดานสค์ เขาลงไปดื่มเบียร์และกลับขึ้นรถไฟไม่ทัน วาเวนซาในวัย ๒๔ ปี จึงตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองกดานสค์โดยได้งานเป็นช่างไฟฟ้าที่อู่เรือเลนิน เมืองกดานสค์ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางตอนเหนือของโปแลนด์ วาเวนซาพบรักกับดานูตา กอวอช (Danuta Goło )สาวขายดอกไม้วัย ๒๓ปีเขาเกี้ยวเธอด้วยการซื้อดอกไม้แทบทุกวันจนเธอใจอ่อนและยอมแต่งงานด้วยเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๖๙ ในปีต่อมา เขาได้บุตรชายคนแรกและต่อมามีบุตรชายอีก ๓ คนและบุตรสาว ๔ คนแม้ดานูตาจะไม่สนใจการเมืองและไม่ต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ก็มีส่วนร่วมสนับสนุนสามีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและมักเป็นคนไปประกันตัวสามีจากสถานีตำรวจบ่อย ๆ จนเป็นที่รู้จักมักคุ้นในแวดวงตำรวจและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

 ในกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ซึ่งเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศประกาศขึ้นราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคร้อยละ ๓๐ การประกาศดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนทั่วไปคนงานอู่เรือกว่า ๑,๐๐๐ คน ที่เมืองกดานสค์ชุมนุมต่อต้านการขึ้นราคาอาหารและสินค้าและเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง ทั้งส่งผู้แทนคนงาน ๕ คน ไปเจรจากับฝ่ายนายจ้าง แต่ผู้แทนทั้ง ๕ คน ถูกจับส่งให้ตำรวจดำเนินคดี การจับกุมสร้างความโกรธแค้นแก่คนงานและนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนทั้งมีการทำลายร้านค้าและเกิดการปะทะกับตำรวจ จำนวนคนงานที่เข้าร่วมประท้วงมีมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ซึ่งรวมทั้งวาเวนซาในวัย ๒๗ ปี ได้ไปรวมตัวกันที่สถานีตำรวจเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้แทนคนงาน วาเวนซาพยายามขอร้องหลายครั้งให้เพื่อนคนงานเคลื่อนไหวอย่างละมุนละม่อมและให้สลายการชุมนุมอย่างสงบเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจาทั้งเรียกร้องตำรวจไม่ให้ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมในท้ายที่สุดคนงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความคิดของเขาและแยกย้ายกันกลับแต่คนงานจำนวนหนึ่งไปรวมตัวกันใหม่ที่เขตพื้นที่ของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์และแอบบุกเข้าไปในอาคารที่ทำการของพรรคและขโมยระเบิดขวดออกมาทั้งจุดไฟเผาอาคารการชุมนุมจึงบานปลายเป็นการจลาจลและทำลายทรัพย์สินของทางการตำรวจจึงใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าควบคุมสถานการณ์ขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ก็สั่งให้กองทัพและรถถังจากกรุงวอร์ซอไปเมืองกดานสค์เพื่อปกป้องอาคารที่ทำการของรัฐและให้ประสานงานกับตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อย

 ในการปะทะกัน ผู้ชุมนุมเสียชีวิต ๖ คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนที่บริเวณอู่เรือทหารได้ยิงคนงานเสียชีวิต ๔ คน กลุ่มคนงานที่โกรธแค้นได้แบกศพเพื่อนคนงานแห่ไปตามท้องถนนและตรอกซอย ทั้งเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมในการต่อสู้ ข่าวการปราบปรามที่มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกเพราะประชาชนออกมาสมทบการชุมนุมมากขึ้นรัฐบาลจึงประกาศกฎอัยการศึกและจับกุมผู้นำการชุมนุมซึ่งรวมทั้งวาเวนซาด้วย เขาถูกไต่สวนและต่อมาได้รับข้อเสนอให้ทำงานเป็นสายสืบของตำรวจแต่เขาปฏิเสธ วาเวนซาถูกขังอยู่หลายเดือนและในท้ายที่สุดได้รับการปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดเขาได้ เขาตกงานเกือบครึ่งปีและได้งานใหม่เป็นช่างเทคนิคประจำโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์โลหะ แต่ทำได้ไม่นานก็ถูกไล่ออกเพราะเขายังคงเข้าร่วมเคลื่อนไหวการชุมนุมที่ไม่ถูกกฎหมายของคนงาน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๐–๑๙๗๖ วาเวนซาเปลี่ยนงานบ่อยครั้งและตำรวจก็คอยติดตามการเคลื่อนไหวรวมทั้งข่มขู่คุกคามครอบครัวของเขา

 ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๖ รัฐบาลประกาศขึ้นราคาอาหารและสินค้าร้อยละ ๖๐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงทั่วไปจนรัฐบาลต้องยกเลิกการประกาศในที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินการปราบปรามกวาดล้างขบวนการของคนงานทั่วประเทศ การปราบปรามดังกล่าวทำให้ปัญญาชนและผู้นำคนงานซึ่งรวมทั้งวาเวนซารวมตัวกันต่อต้านและตั้งกลุ่มคณะกรรมาธิการเพื่อคุ้มครองคนงาน (Worker’s Defense Committee) ขึ้นในเดือนตุลาคมเพื่อช่วยเหลือคนงานและครอบครัวที่ตกงานหรือเดือดร้อนจากการเข้าร่วมชุมนุม คณะกรรมาธิการเพื่อคุ้มครองคนงานดังกล่าวในเวลาต่อมาเป็นองค์การหลักในการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านรัฐบาลและมีชื่อเรียกใหม่ว่า คณะกรรมาธิการเพื่อคุ้มครองตนเองทางสังคม (Committee for Social Self-defense) วาเวนซาอุทิศตนทำงานให้คณะกรรมาธิการเพื่อคุ้มครองคนงานอย่างเต็มที่ซึ่งส่งผลให้เขาถูกไล่ออกจากงานบ่อยครั้ง บางครั้งเขาตกงานเป็นปีและต้องขายรถยนต์เพื่อเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันตำรวจลับคอยจับตาการเคลื่อนไหวของเขาและครอบครัวทั้งที่บ้านและที่ทำงานก็ถูกดักฟังเสมอ

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ วาเวนซาเป็นแกนนำคนสำคัญในสหภาพแรงงานเสรีของกรรมกรชายฝั่ง (Free Trade Union of the Coastal Worker) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานใต้ดินที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เขาผลักดันให้มีการจัดทำสิ่งพิมพ์ใต้ดินชื่อ Robotnik Wybrzeża (Coastal Worker) เพื่อเผยแพร่ข่าวสารการต่อสู้ของคนงานและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานรวมถึงการเคลื่อนไหวขององค์การคนงานต่างๆที่มีเป้าหมายเดียวกันขณะเดียวกันเขาก็เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยเพื่อปากท้องของคนงานด้วยการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงและปรับปรุงด้านสวัสดิการทางสังคม บ่อยครั้งเขานำใบปลิวไปแจกจ่ายในที่สาธารณะและติดไว้ตามอาคารที่ทำการของรัฐบาลจนถูกจับกุมเสมอ วาเวนซาจึงเข้าออกคุกบ่อยครั้ง และมีชื่อในบัญชีดำอันดับต้น ๆ ของตำรวจต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ รัฐบาลโปแลนด์ซึ่งเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและภาระหนี้สินต่างประเทศกว่า ๑๙,๐๐๐ล้านดอลลาร์สหรัฐประกาศขึ้นราคาอาหารและสินค้าอีกครั้งการประกาศดังกล่าวนำไปสู่การชุมนุมประท้วงของคนงานตามเมืองต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องค่าแรงเพิ่ม การชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่ที่รุนแรงเกิดขึ้นที่อู่เรือเลนิน เมืองกดานสค์ ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ เมื่อหนังสือพิมพ์ใต้ดินRobotnik Wybrzeża เสนอข่าวการไล่อันนา วาเลนติโนวิตซ์ (Anna Walentynowicz) คนขับรถปั้นจั่นวัย ๕๑ ปี ซึ่งลาป่วยออกจากงานเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ทั้ง ๆ ที่เธอมีแผนที่จะเกษียณก่อนกำหนดในอีก ๕ เดือนข้างหน้า

 วาเลนติโนวิตซ์เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของสหภาพแรงงาน เธอเกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๙ และสูญเสียครอบครัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่๒หลังสงครามสิ้นสุดวาเลนติโนวิตซ์ทำงานเป็นช่างเชื่อมโลหะที่อู่เรือเลนินและต่อมาเป็นคนขับรถปั้นจั่น การอุทิศตนทำงานอย่างเต็มกำลังทำให้เธอได้รับการยกย่องเป็น “วีรสตรีแห่งแรงงานสังคมนิยม”เธอเป็นคนเคร่งศาสนาและเชื่อมั่นในคำสอนของสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ ซึ่งเป็นนักบวชชาวโปลคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปาใน ค.ศ. ๑๙๗๘ สันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ ซึ่งทรงสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการกรรมกรมีส่วนทำให้วาเลนติโนวิตซ์ที่เคารพรักและสนิทกับพระองค์หันมาร่วมในขบวนการกรรมกรทั้งเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการเพื่อคุ้มครองตนเองทางสังคมและร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานเสรีของกรรมกรชายฝั่งในเวลาอันรวดเร็ว เธอเป็นแกนนำของกรรมกรในการต่อสู้เพื่อสิทธิของกรรมกรและการต่อต้านความไม่ชอบธรรมของนายจ้างในการกดขี่คนงาน ตำรวจลับมักข่มขู่คุกคามเธอเสมอ

 การไล่วาเลนติโนวิตซ์ที่ทำงานอย่างซื่อสัตย์มา ๓๐ ปีทำให้กรรมกรโกรธแค้นและชุมนุมรวมตัวกันต่อสู้เพื่อเธอทั้งเรียกร้องให้รับเธอกลับเข้าทำงานและให้เพิ่มค่าแรง ๑,๐๐๐ ซวอตี (złoty) แก่คนงานคนงานกว่า ๖,๐๐๐ คน ซึ่งรวมทั้งวาเวนซาปิดล้อมอู่เรือและเรียกร้องให้มีการเจรจาตกลง วาเวนซาในวัย ๓๖ ปีเป็นผู้นำคนสำคัญในการประท้วงและการเจรจาซึ่งในท้ายที่สุดนายจ้างยอมประนีประนอมให้วาเลนติโนวิตซ์และคนงานอื่น ๆ ที่ถูกไล่ออกกลับเข้าทำงานและเพิ่มค่าแรงให้ ๑,๕๐๐ ซวอตี อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงไม่ได้ยุติลงเพราะคนงานจากอู่เรืออื่น ๆ รวมทั้งพนักงานรถไฟและคนขับรถโดยสารที่ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มก่อการประท้วงและเรียกร้องให้สหภาพแรงงานเสรีกรรมกรชายฝั่งสนับสนุนพวกเขา วาเวนซาและวาเลนติโนวิตซ์ประกาศสนับสนุนและนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวใหญ่ที่เรียกว่า “การนัดหยุดงานเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ” (sympathy strike) ที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนงานตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งสร้างความหวาดวิตกแก่รัฐบาล

 ในการเคลื่อนไหวดำเนินงานได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการนัดหยุดงานระหว่างวิสาหกิจหรือไอเอสซี (Inter-Enterprise Strike Committee–ISC) ขึ้นเพื่อประสานการเคลื่อนไหวกับวิสาหกิจและโรงงานต่าง ๆ กว่า ๒๐ แห่ง องค์การศาสนจักรสนับสนุนการดำเนินงานของไอเอสซีอย่างเปิดเผยและส่งบาทหลวงท้องถิ่นมาทำพิธีทางศาสนาให้คนงานที่อู่เรือและสันตะปาปาก็ทรงเทศน์ชี้นำการเคลื่อนไหวด้วยไอเอสซีได้จัดทำข้อเรียกร้องรวม ๒๑ ข้อ ซึ่งรวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เสรีภาพทางศาสนา และการแสดงออกทางความคิดเห็น เสรีภาพในการเข้าถึงสื่อมวลชนและอื่น ๆ ตลอดช่วงการเจรจาเกือบ ๑ สัปดาห์ การชุมนุมประท้วงยังคงดำเนินต่อไปและจำนวนผู้ชุมนุมก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ประธานาธิบดีเลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev)* แห่งสหภาพโซเวียตจึงเรียกร้องให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์หาทางแก้ไขปัญหาภายในก่อนที่สถานการณ์จะบานปลายและควบคุมไม่ได้ ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีส่วนทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ในท้ายที่สุดยอมตกลงและนำไปสู่การลงนามความตกลงกดานสค์ (Gdansk Agreement)* เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ ระหว่างวาเวนซากับมีเยซิสลัฟ ยากีเยลสกี (Mieczyslaw Jagielski) รองนายกรัฐมนตรีความตกลงกดานสค์ทำให้สหภาพแรงงานเสรีแห่งแรกได้รับการจัดตั้งขึ้นในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตและการชุมนุมประท้วงก็ยุติลง

 ต่อมา ในกลางเดือนกันยายนคณะกรรมาธิการก่อตั้งสหภาพแรงงานเสรีระหว่างโรงงาน (Inter-Factory Founding Committee of Free Trade Unions) กว่า ๒๐ แห่ง ก็รวมตัวกันเข้าเป็นองค์การระดับชาติองค์การเดียวกันเรียกชื่อว่า “โซลิดาริตี” สหภาพแรงงานปกครองตนเองอย่างอิสระ (Independent Selfgoverning Trade Union “Solidarity”) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสหภาพแรงงานเสรี เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายนและจดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๐ วาเวนซาได้รับเลือกเป็นผู้นำของสหภาพแรงงานเสรีและวาเลนติโนวิตซ์ก็เป็นกรรมการบริหารคนหนึ่งของสหภาพแรงงานเสรีด้วย อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาวาเลนติโนวิตซ์มีความคิดเห็นขัดแย้งกับวาเวนซาเกี่ยวกับแนวนโยบายของสหภาพแรงงาน เธอจึงลาออกและจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระของเธอเอง

 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๐ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ สหภาพแรงงานเสรีเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปากท้องของคนงานเป็นหลักและยังคงเชื่อมั่นในระบอบสังคมนิยมโดยมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงเพื่อจะทำให้ระบอบสังคมนิยมมีมนุษยธรรมมากขึ้น การต่อสู้เรียกร้องยังคงอยู่ในกรอบกฎหมายและแนวทางสันติ สหภาพแรงงานเสรีแบ่งโครงสร้างการบริหารเป็น ๑๐ ภูมิภาค และ ๒ เขตการปกครอง มีสมาชิกกว่า ๑๐ ล้านคน ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๑ วาเวนซาได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เดินทางออกนอกประเทศไปนครวาติกันเพื่อเข้าเฝ้าสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ทั่วไป รัฐบาลคาดหวังว่าการผ่อนปรนดังกล่าวจะทำให้ประชาชนและสหภาพแรงงานเสรีสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้นซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก หลังเดือนมีนาคมเป็นต้นมา รูปแบบการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเสรีเริ่มเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมการเรียกร้องมีแนวความคิดทางการเมืองมากขึ้นจนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุมและปราบปราม ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ นายพลวอยเชช ยารูเซลสกี (Wojciech Jaruzelski)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งหวาดวิตกว่าหากไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเสรีได้ สหภาพโซเวียตอาจใช้กองทัพขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* เข้าแทรกแซงโดยอ้างหลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* ค.ศ. ๑๙๖๘ ในการปกป้องเครือจักรภพสังคมนิยม เขาจึงประกาศกฎอัยการศึกปกครองประเทศและยุบสหภาพแรงงานเสรี รวมทั้งจับกุมวาเวนซาและแกนนำคนสำคัญของสหภาพแรงงานเสรี ห้ามการชุมนุม การรวมตัว และการเคลื่อนไหวตามท้องถนนและที่สาธารณะ

 วาเวนซาถูกขังเดี่ยว ๑๑ เดือน รัฐบาลพยายามเกลี้ยกล่อมเขาในช่วงถูกจองจำให้ออกจากขบวนการต่อสู้โดยทำงานเป็นฝ่ายรัฐบาล แต่เขาปฏิเสธทั้งยังลักลอบส่งข่าวไปยังสมาชิกสหภาพแรงงานเสรีที่เคลื่อนไหวใต้ดินให้ยืนหยัดต่อสู้และยึดหลักการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๒ และกลับไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่เมืองกดานสค์ทั้งร่วมเคลื่อนไหวใต้ดินต่อไปวาเวนซากลายเป็นสัญลักษณ์ของสหภาพแรงงานเสรีและสร้างความหวังให้แก่เพื่อนคนงานและสมาชิกสหภาพแรงงานเสรีในการจะฟื้นคืนสหภาพแรงงานเสรีให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันเขาก็เป็นที่รู้จักของประเทศตะวันตกในฐานะผู้นำการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในโปแลนด์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๓ สันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ เสด็จเยือนโปแลนด์และทรงเรียกร้องให้มีการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาลกับวาเวนซา และให้สหภาพแรงงานเสรีกลับมามีบทบาทในการดำเนินงานอีกครั้งหนึ่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีส่วนทำให้รัฐบาลซึ่งสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยภายในประเทศในขณะนั้นและต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม และทยอยปล่อยตัวสมาชิกโซลิดาริตี

 ในปีเดียวกัน วาเวนซาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในการรณรงค์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แม้เขาปฏิเสธที่จะเดินทางไปรับรางวัลเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะเห็นเป็นโอกาสเนรเทศเขา แต่ก็ให้ภริยาไปรับแทน วาเวนซาประกาศมอบรางวัลที่ได้รับให้แก่สมาชิกของสหภาพแรงงานเสรีทุกคนและอุทิศเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่มูลนิธิด้านเกษตรกรรมขององค์การศาสนจักร ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๓–๑๙๘๗ แม้วาเวนซาจะถูกตำรวจลับจับตามองและคุกคามเขาและครอบครัวแต่เขาก็เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง และมีบทบาทสำคัญในขบวนการใต้ดินเพื่อสิทธิเสรีภาพ เขายังติดต่อประสานการเคลื่อนไหวกับขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ในเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ที่มีวาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* เป็นผู้นำ นอกจากนี้วาเวนซายังจัดทำวารสาร Tygodnik Mazowsze ซึ่งเป็นวารสารใต้ดินรายสัปดาห์ของสหภาพแรงงานเสรีเผยแพร่กิจกรรมของขบวนการและเป็นสื่อเชื่อมโยงความคิดของสมาชิกโดยชูคำขวัญว่า “สหภาพแรงงานเสรีจะไม่ถูกแบ่งแยกหรือทำลาย” (Solidarity will not be divided or destroyed)

 เมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟผู้นำสหภาพโซเวียตเริ่มนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เพื่อเปลี่ยนประเทศให้เป็นไปในแนวทางประชาธิปไตยทุก ๆ ด้าน และยอมให้กลุ่มรัฐบริวารโซเวียตใช้เงื่อนไขของนโยบายดังกล่าวปรับเปลี่ยนประเทศตามแบบสหภาพโซเวียตได้สหภาพแรงงานเสรีจึงเห็นเป็นโอกาสกลับมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง โดยรัฐบาลยอมผ่อนปรนให้เคลื่อนไหวในขอบเขตที่เหมาะสมที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้ ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ วาเวนซาจัดตั้งคณะกรรมาธิการบริหารเฉพาะกาลของสหภาพแรงงานโซลิดาริตี (Provisional Executive Committee of the Solidarity Trade Union) ขึ้นเพื่อบริหารและชี้นำนโยบายอย่างไม่เป็นทางการแก่ขบวนการคณะกรรมการบริหารเฉพาะกาลชุดนี้ทำให้การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานเสรีมีความเป็นเอกภาพและเข้มแข็งมากขึ้นจนรัฐบาลเริ่มหวาดวิตก

 ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๘๘ โปแลนด์เผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งและการชุมนุมประท้วงไม่พอใจรัฐบาลเกิดขึ้นทั่วประเทศ วาเวนซามีบทบาทสำคัญในการจัดชุมนุมเคลื่อนไหวที่เมืองกดานสค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็วและให้ยอมรับว่าสหภาพแรงงานเสรีเป็นองค์การที่ถูกกฎหมาย ยารูเซลสกีผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ตระหนักว่าไม่สามารถใช้กำลังบังคับคนงานให้กลับเข้าทำงานได้ และสหภาพโซเวียตก็ปฏิเสธที่จะเข้าแทรกแซงเพราะเกรงว่าสถานการณ์อาจบานปลายเป็นการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจจะพังพินาศมากขึ้นอีกยารูเซลสกีจึงหาทางแก้ปัญหาด้วยการเปิดการเจรจาหารือกับสหภาพแรงงานเสรีเพื่อปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ การเจรจาโต๊ะกลมระหว่างรัฐบาลกับสหภาพแรงงานเสรีมีขึ้นระหว่างวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ในช่วงที่มีการเจรจาตกลง วาเวนซาหาโอกาสและเวลาว่างเดินทางไปทั่วประเทศ ชี้แนะและบรรยายให้ประชาชนเข้าใจและสนับสนุนความตกลงที่จะเกิดขึ้น ในท้ายที่สุดรัฐบาลยอมตกลงเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจและให้โซลิดาริตีเป็นสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมาย และยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชน ทั้งให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนโดยเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ลงสมัครเลือกตั้งได้ แต่โซลิดาริตีต้องสนับสนุนให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์และพันธมิตรได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (Sejm) อย่างน้อยร้อยละ ๖๕ หรือ ๒ ใน ๓ ของที่นั่งในสภา ทั้งต้องสนับสนุนให้ยารูเซลสกีได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศเพื่อให้เขายังคงมีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์จะยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกการปกครองแบบพรรคเดียว ทั้งฟื้นฟูสถานภาพของศาสนจักรและให้สิทธิเสรีภาพทางสังคมและการเมืองแก่ประชาชน

 การเลือกตั้งเสรีทั่วไปครั้งแรกในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปี นับแต่ ค.ศ. ๑๙๔๕ กำหนดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ และ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ แม้จะมีการกำหนดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็สามารถเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องเลือกชื่อผู้สมัครในที่นั่งที่สงวนไว้ได้ ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงพลิกความคาดหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้สมัครจากโซลิดาริตีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นโดยได้ที่นั่งในสภาล่าง ๑๖๐ ที่นั่ง และสภาสูง ๙๒ ที่นั่งจาก ๑๐๐ ที่นั่งผู้สมัครคนสำคัญหลายคนที่เป็นตัวเก็งจากพรรคคอมมิวนิสต์และเคยมีบทบาททางการเมืองกว่า ๔๐ ปี ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะได้รับเลือกเข้าสู่สภา โซลิดาริตีจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศโดยทาเดอูซ มาโซเวียซกี (Tadeusz Mazowiecki) สหายสนิทร่วมอุดมการณ์ของวาเวนซาซึ่งเป็นผู้แทนจากโซลิดาริตีได้เป็นนายกรัฐมนตรี วาเวนซาซึ่งต้องการให้การดำเนินงานของรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น จึงโน้มน้าวให้ฝ่ายโซลิดาริตียอมให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีมหาดไทย ทั้งสนับสนุนยารูเซลสกีเป็นประธานาธิบดี หลังการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่ซึ่งคณะรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มดำเนินการสลายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์จนยุบลงในต้น ค.ศ. ๑๙๙๐ ทั้งปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปราศจากการนองเลือดในโปแลนด์จึงนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ในประเทศยุโรปตะวันออกและนับเป็นการเริ่มต้นจุดจบของลัทธิคอมมิวนิสต์ในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียต

 ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ วาเวนซาซึ่งไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีมาโซเวียซกีปกครองประเทศด้วยนโยบายออมชอมกับนักการเมืองที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ตัดสินใจที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีเอง เขาชูคำขวัญว่า “ข้าพเจ้าไม่ต้องการจะเป็นแต่ก็ไม่มีทางเลือก” (I don’t want to but I have no choice) วาเวนซามีชัยชนะเหนือคู่แข่งคนอื่น ๆ โดยได้คะแนนเสียงถล่มทลายในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของโปแลนด์ และเขาเป็นประธานาธิบดีโปแลนด์คนแรกที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ในช่วงเวลา ๕ ปี เขาดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และสนับสนุนธุรกิจเอกชนเพื่อให้ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ทั้งพยายามแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อด้วยการเข้มงวดกับนโยบายการคลังและการเงิน ตลอดจนผลักดันระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีโดยให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของวาเวนซาที่รู้จักกันว่า “shock therapy” ซึ่งปล่อยราคาสินค้าลอยตัวและรัฐยกเลิกเงินสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ทำให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและสังคมช่วงเวลาหนึ่งแต่ในเวลาอันรวดเร็วระบบเศรษฐกิจก็เริ่มปรับตัวและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้วาเวนซายังพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* แห่งสหพันธรัฐรัสเซียเพื่อให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากโปแลนด์ และลดหนี้สินต่างประเทศลงซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เขายังพยายามผลักดันโปแลนด์เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* และสหภาพยุโรป (European Union–EU)* ซึ่งก็ประสบความสำเร็จภายหลังเขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปแล้วคือใน ค.ศ. ๑๙๙๙ และ ค.ศ. ๒๐๐๔ ตามลำดับ

 แม้วาเวนซาจะเป็นผู้นำทางการเมืองที่เชี่ยวชาญในการโน้มนำมวลชน แต่ในฐานะประธานาธิบดีของประเทศ เขาล้มเหลวที่จะเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของประธานาธิบดี ทั้งขาดความสง่างามและความสันทัดในงานบริหาร เขามักใช้วิธีการเจรจาแบบโผงผางและเผชิญหน้ากันโดยตรง ทั้งใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมตลอดช่วงการดำรงตำแหน่ง เขาเปลี่ยนคณะรัฐบาลทุกปี ทั้งเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลายครั้งจนได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มก่อ “สงครามเบื้องบน” (War at the top) เพราะมักสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในกลุ่มพันธมิตรเสมอ นอกจากนี้ การเป็นคาทอลิกที่เคร่งก็ทำให้วาเวนซาต่อต้านแข็งกร้าวและเด็ดขาดเรื่องการทำหมันและการแต่งงานของเพศเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เขาจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นในชื่อ Nonpartisan Bloc for Support of Reforms–BBWR เพื่อให้สมาชิกลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๙๓ ซึ่งเป็นช่วงที่คะแนนความนิยมของประชาชนต่อเขาลดลง แต่ล้มเหลวเพราะสมาชิกพรรคของเขาแทบจะไม่ได้รับเลือกเลย ในปลายสมัยการดำรงตำแหน่งความนิยมของประชาชนต่อวาเวนซาลดน้อยลงอีก เพราะระบบเศรษฐกิจตลาดเสรียังไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ วาเวนซาสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ ๔๘.๗๒ ซึ่งพ่ายแพ้ต่ออะเล็กซานเดอร์ ควอชเนฟสกี (Aleksander Kwaśniewski) ผู้นำพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยซ้าย (Democratic Left Alliance Party)หรือพรรคคอมมิวนิสต์เดิมที่เปลี่ยนชื่อและแนวนโยบายความปราชัยทางการเมืองครั้งนี้ทำให้วาเวนซาในวัย ๕๒ ปี ตัดสินใจถอนตัวออกจากแวดวงการเมืองและลดบทบาททางการเมืองลง

 หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี วาเวนซากลับไปใช้ชีวิตที่เมืองกดานสค์และเดินสายไปบรรยายเรื่องการเมืองและประสบการณ์การต่อสู้ตามมหาวิทยาลัยและองค์การต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ เขาก่อตั้งสถาบันเลค วาเวนซา (Lech Walesa Institute) ขึ้นเพื่อให้การปรึกษาและสนับสนุนเรื่องประชาธิปไตยและการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในโปแลนด์และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ เขาสนับสนุนการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่คือพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนของสาธารณรัฐโปแลนด์ที่ ๓ (Christian Democracy of the 3ʳᵈ Polish Republic) เพื่อให้ร่วมมือกับพรรค Solidarity Electoral Action ในการลงสมัครเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกของทั้ง ๒ พรรคได้ที่นั่งในสภาจำนวนไม่น้อย ความสำเร็จทางการเมืองดังกล่าวทำให้วาเวนซาคิดหวนสู่เวทีการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และลงสมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๒๐๐๐ แต่พ่ายแพ้และได้เสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ ๑ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเท่านั้น

 วาเวนซาเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตและงานของเขารวม ๓ เล่ม คือ The Road of Hope (ค.ศ. ๑๙๘๗) The Road to Freedom (ค.ศ. ๑๙๙๑) และAll That I Do, I Do for Poland (ค.ศ. ๑๙๙๕) งานเขียนดังกล่าวมีส่วนทำให้เขาเป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้น เขาได้รับอิสริยาภรณ์และรางวัลอันทรงเกียรติจากประเทศต่าง ๆ มากมาย ทั้งได้รับเชิญให้ไปบรรยายและร่วมงานรัฐพิธีต่าง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ รัฐบาลโปแลนด์ให้เกียรติเขาโดยเปลี่ยนชื่อสนามบินนานาชาติกดานสค์เป็นสนามบินกดานสค์เลควาเวนซา (Gdansk Lech Walesa Airport) เพื่อเป็นเกียรติแก่ชาวกดานสค์ที่มีชื่อเสียงและให้มีลายเซ็นของวาเวนซาเป็นส่วนหนึ่งของโลโก้สนามบินด้วย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ วาเวนซาเป็นผู้ปาฐกถาในการบรรยายนำที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* เนื่องในโอกาสที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ ๑๑ ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันความเป็นปึกแผ่นแห่งมนุษยชาติสากล (International Human Solidarity Day) ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ วาเวนซากล่าวบรรยายนำในการประชุมนานาชาติที่เมืองกดานสค์เนื่องในวาระเฉลิมฉลองการครอบรอบ ๒๐ ปี ของการเลือกตั้งเสรีประชาธิปไตยครั้งแรกของอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ตลอดจนการเลือกตั้งสภาสูงของโปแลนด์ครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๘๙ ด้วย

 นักประวัติศาสตร์โปแลนด์กล่าวว่า หากไม่มีเลค วาเวนซา การชุมนุมประท้วงที่อู่ต่อเรือเลนินอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นและสหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตีก็แทบจะไม่เคยปรากฏขึ้น หากไม่มีวาเวนซา โปแลนด์อาจไม่ผ่านพ้นเงาทมิฬของกฎอัยการศึกและไม่ผงาดยืนอย่างมีชัยชนะในการเจรจาตกลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบคอมมิวนิสต์ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย หากไม่มีโปแลนด์จุดชนวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ ประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ก็ยังคงอาจแช่แข็งในความหนาวเหน็บในเขตอิทธิพลโซเวียต และโลกก็คงจะแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในเวลานี้ แม้วาเวนซาจะมีข้อบกพร่องส่วนบุคคล แต่มรดกของเขาคือการให้เสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ไม่เพียงเฉพาะเพื่อชาวโปแลนด์เท่านั้น แต่สำหรับชาวโลกด้วยดังคติพจน์เก่าแก่ของโปแลนด์ที่ว่า “เพื่อเสรีภาพของเราและของท่านด้วย” (for our freedom-and yours).



คำตั้ง
Wałęsa, Lech
คำเทียบ
นายเลค วาเวนซา
คำสำคัญ
- กดานสค์
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กลุ่มกฎบัตร ๗๗
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- ขบวนการโซลิดาริตี
- ความตกลงกดานสค์
- ค่ายกักกัน
- เครือจักรภพ
- โซลิดาริตี
- เบรจเนฟ, เลโอนิด
- ยารูเซลสกี, วอยเชช
- เยลต์ซิน, บอริส
- วาเวนซา, เลค
- สงครามเบื้องบน
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สหประชาชาติ
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพยุโรป
- สหภาพแรงงาน
- สหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตี
- หลักการเบรจเนฟ
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ฮาเวล, วาซลาฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1943–
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๖–
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-